top of page
  • Writer's pictureเที่ยวแปลกใหม่

เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) ประตูสู่นรก

เติร์กเมนิสถาน เวลาเราได้ยินชื่อประเทศนี้ หลายคนคงแทบจะไม่มีภาพเลยว่าประเทศเป็นอย่างไร บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินเลยด้วยซ้ำ แต่ตั้งแต่เริ่มเขียนบล๊อกมารู้สึกเลยว่าประเทศนี้มันแปลกสมชื่อเที่ยวแปลกใหม่ที่สุด


มีบางคนบอกว่าเติร์กเมนิสถานนี่คือประเทศที่ใกล้เคียงเกาหลีเหนือที่สุดที่เราสามารถไปได้กัน มันเหมือนยังไง ? เป็นประเทศที่รัฐบาลคุมทุกอย่าง มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีอำนาจเบ็ดเสร็จ Social Media เกือบทั้งหมดใช้ไม่ได้ที่นี่ ความเร็วก็ช้าสุด ๆ ๆ ราวกับ 56K ยังเป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดอยู่ มีความเข้มงวดเรื่อง ความมั่นคง เสรีภาพ และ อิสรภาพ พอสมควรเลย แค่ตอนมาถึงสนามบินก็โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพาสปอตไปกว่า 5 ครั้ง ถ้าอยู่เกิน 3 วันก็ต้องไปรายงานตัวกับตำรวจ จนทำให้เราคิดไปเลยว่าประเทศนี้เขาไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวเหรอ ?


แต่พอสัมผัสกับประเทศนี้และคนจึงรู้สึกว่า มันไม่ได้แย่อย่างที่คิด ประเทศนี้ปลอดภัยมาก ๆ เป็นประเทศที่แปลก และเต็มไปด้วยสถานที่ลึกลับสุดมันส์ที่คุ้มค่าต่อการไปเที่ยวมาก ๆ จะเป็นไงเรามาดูกันเลย


ประสบการณ์ขึ้น Turkmenistan Airlines บอกเลยกลัวมากกก

 

เติร์กเมนิสถาน เป็นหนึ่งในอดีตประเทศของสหภาพโซเวียต ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง ทางทิศตะวันออกของทะเลแคสเปียน และทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอะมู-ดาร์ยา (Amu-Darya) ระหว่างอิหร่านและอุซเบกิสถาน ภาคเหนือติดคาซัคสถาน ภาคใต้ติดอัฟกานิสถาน ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือติดอุซเบกิสถาน ภาคตะวันตกติดอิหร่าน และโคตรรวยจากก๊าซธรรมชาติ ประมาณว่าเจาะตรงไหนก็เจอ


พื้นที่ 488, 100 ตารางกิโลเมตร

เมืองหลวง กรุงอาชกาบัท (Ashgabat)

ประชากร 5.4 ล้านคน

ภาษา เติร์กเมนเป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษารัสเซียอย่างกว้างขวาง

ศาสนา อิสลามสุหนี่ 89% คริสต์ออร์โธด็อกซ์ 9 % อื่นๆ 2%


 

กรุงอาชกาบัต (Ashgabat)


อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี การประกาศเอกราชของเติร์กเมนิสถาน

กรุงอาชกาบัตเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่สุดของเติร์กเมนิสถาน มีประชากรอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคน ชื่อกรุงอาชกาบัตเป็นภาษาเปอร์เซียมีความหมายว่า “เมืองแห่งความรัก” ตั้งอยู่กลางทะเลทรายคาราคุม (Karakum) ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 70 ของประเทศ


อาคารต่าง ๆ มีรูปทรงแปลกตามากและขาวทั้งหมด

เมื่อ ค.ศ. 1948 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่กรุงอาชกาบัต ทำให้ตัวเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีผู้เสียชีวิตราว 110,000 คน รัฐบาลจึงสร้างเมืองขึ้นใหม่ให้มีสถาปัตยกรรแบบสหภาพโซเวียต โดยใช้อิฐสีเทาในการก่อสร้าง และเน้นศิลปะแบบวิจิตรและอลังการ (Art Deco) ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี ค.ศ. 1991 นายซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ (Saparmurat Niyazov) ประธานาธิบดีคนแรกของเติร์กเมนิสถาน ได้บูรณะสถาปัตยกรรมภายในประเทศขึ้นใหม่เพื่อให้บ้านเมืองมีสภาพเสมือนเพิ่งสร้างแล้วเสร็จ โดยตึกรามที่สร้างใหม่ทุกหลังจะใช้หินอ่อนสีขาวเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ซึ่งตึกและอาคารต่าง ๆ มีหน้าตาแปลกพิเศษไม่เหมือนที่ไหนในโลก เดินบนถนนนี่นึกว่าอยู่ในหนังสือเรื่อง 1984 คือแบบมันหนัง Sci-Fi มาก ๆ


อาคารในกรุง สีขาวหมด เหมือนหนัง Sci-Fi เลย

ในปี ค.ศ. 2013 หนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ (Guinness Book of World Records) ได้บันทึกไว้ว่า กรุงอาชกาบัตเป็นเมืองที่มีอาคารหินอ่อนสีขาวมากที่สุดในโลก โดยภายในอาณาเขตของกรุงที่มีเพียง 22 ตารางกิโลเมตรแต่มีอาคารถึง 543 แห่ง ที่ผนังด้านนอกถูกประดับด้วยหินอ่อนสีขาวขนาดแผ่นละกว้าง 40 ซม. ยาว 80 ซม. และหนา 3 ซม. รวมปริมาณหินอ่อนมากถึง 4.5 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งหินอ่อนส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศอิตาลี ทำให้กรุงอาชกาบัตได้สมญานามว่าเป็น “เมืองสีขาว” (The White City)


ศูนย์วัฒนธรรมและบันเทิงอาเล็ม ภายในเป็นชิงช้าสวรรค์ในร่มที่สูงที่สุดในโลก

อาคารสำหรับจัดงานแต่งงาน พวกตึกหน้าตาต่างดาวนี่หละคือเสน่ห์ของที่นี่

กรุงอาชกาบัต ยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาสถาปัตยกรรมของประเทศ ซึ่งผสมผสานระหว่างความเป็นเมืองสมัยใหม่กับความงดงามของเมืองโบราณ สถาปัตยกรรมของเมืองได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอิสลาม กรีก และเปอร์เซียสมัยโบราณ รวมทั้งอิทธิพลของสหภาพโซเวียตที่มีต่อแนวคิดการสร้างอนุเสาวรีย์และการพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย แต่ผมบอกยังไงมันก็ต่าวดาวมาก ๆ


หน้าอนุสาวรีย์เอกราช

ตลาด Altyn Asyr เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเติร์กเมนิสถาน คงประมาณ JJ ของเรา

 

หุบเขาแยงกีคาลา (Yangykala Canyon)



หุบเขาแยงกีคาลา ซึ่งมีความหมายในภาษาท้องถิ่นหมายถึง “ปราการอัคคี” (Fire Fortress) สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับสมญานามว่าเป็น Grand Canyon แห่งเติร์กเมนิสถาน ตั้งอยู่ห่างจากเมืองบอลคานาบัต (Balkanabat) ในจังหวัดบอลข่าน ไปทางทิศเหนือ 195 กิโลเมตร และห่างจากเมืองเติร์กเมนบาชิ ไปทางทิศตะวันออก 160 กิโลเมตร


ขบวนรถ 4x4 ที่จะพาเราไปหุบเขาแยงกีคาลา

ซึ่งการเดินทางไปหุบเขานี้ เราจะต้องบินจากกรุงอาชกาบัตไปเมืองเติร์กเมนบาชิ และจ้างรถ 4x4 ลุยผ่าน (Old Soviet Road) ถนนที่สร้างมาตั้งแต่สมัยยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ไปอีก 4 ชม. อยากจะบอกว่าถนนนี้เหมือนไม่เคยซ่อมเลย หลุมเล็กใหญ่ตลอดทาง ไม่มีทางหลับได้เลย นั่งไปก็กลัวตายไป


พื่นที่กว่า 50% ของประเทศปกคลุมด้วยทะเลทรายดำ แอบให้อารมณ์เหมือนอยู่ตะวันออกกลาง

ครั้งหนึ่งในอดีตเมื่อ 5.5 ล้านปีที่แล้ว หุบเขาแยงกีคาลาเคยจมอยู่ใต้ “ทะเลเทธีส” (Tethys Sea) มาก่อน โดยเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงจนพื้นดินโผล่ขึ้นเหนือผืนน้ำ และผ่านการถูกกัดเซาะโดยลมและฝนตามกาลเวลา บริเวณแถบนี้จึงก่อตัวเป็นรูปร่างของแอ่งหุบเขาและหน้าผาสีสันงดงามดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ตัวหุบเขาและหน้าผามีความสูงระหว่าง 60-100 เมตร ปกคลุมด้วยชั้นหินปูนหลากสี ทั้งชมพู ส้ม แดงฝุ่น เหลือง และขาว ทอดยาวกินอาณาบริเวณกว่า 25 กิโลเมตรไปจรดแอ่งคาราโบกาซ (Kara Bogaz Basin) ซึ่งติดทะเลสาบแคสเปียน


นั่งชมวิวที่ราบจากยอดเขาบนปากจระเข้ นั่งสั่นมาตั้ง 4 ชม. ขอชิลให้คุ้มเสี่ยงตายหน่อย

ระหว่างทางจะพบเห็นอูฐป่าได้มากมาย

 

หลุมก๊าซดาร์วาซา (Darwaza Gas Crater)



ที่นี่หละคือ highlight ของ Trip นี้ !!! ประตูสู่นรก!! หลุมก๊าซดาร์วาซา หรือ Darwaza Gas Crater หรือที่เรียกขานกันในหมู่คนท้องถิ่นว่า “ประตูสู่นรก” (Door to hell) ตั้งอยู่กลางทะเลทรายคาราคุม (Karakum Dessert) บริเวณหมู่บ้านเดรเวเซ (Derweze) ในเขตจังหวัดอาฮาล (Ahal province) ซึ่งเป็นบริเวณที่อุดมไปด้วยก๊าซธรรมชาติ ห่างจากกรุงอาชกาบัต ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 260 กิโลเมตร (ในภาษาเติร์กเมนคำว่า Derweze มีความหมายว่า ประตู) เป็นหลุมก๊าซขนาดใหญ่ซึ่งมีเปลวไฟลุกโชติช่วงอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มอดดับมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี คิดดูสิว่ารัฐจะเสียรายได้ไปเท่าไร


สภาพถนนพัง ๆ ตลอดทางเหมือนกัน

การเดินทางไปสถานที่นี้ยากและเหนื่อยมาก ๆ เราจะต้องออกจากกรุงอาชกาบัตประมาณ 3 โมงเย็น เพื่อไปให้ทันพอดีพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน เนื่องจากหลุมก๊าซสู่นรกนี้จะสวยที่สุดในช่วงเวลานั้น การเดินทางก็ยังคงแนะนำให้เป็นรถ 4x4 อยู่เพราะสภาพถนนก็เก่า ๆ พัง ๆ ตลอดทาง เราจะต้องนั่งรถไปประมาณ 3 ชม. ก็เหมือนเดิม นั่งไปกลัวตายไป ยิ่งขากลับนะ มืดสนิทไม่มีไฟถนนเลย


แวะถ่ายรูปเล่นกับพระอาทิตย์ระหว่างทางไป ใกล้ตกแล้ว

กล่าวกันว่าหลุมก๊าซดาร์วาซา เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1971 โดยวิศวกรของสหภาพโซเวียตได้ทำการขุดเจาะหลุมที่บริเวณดังกล่าวเพื่อสำรวจหาน้ำมัน แต่ขณะที่กำลังขุดเจาะอยู่ พื้นดินบริเวณดังกล่าวได้ยุบตัวลงเกิดเป็นหลุมขนาดกว้าง 70 เมตร และลึก 30 เมตร ส่งผลให้แท่นขุดเจาะรวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ตกลงไปในหลุม ด้วยความกังวลว่า ก๊าซที่พวยพุ่งออกมาจะเป็นพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง วิศวกรโซเวียตจึงตัดสินใจจุดไฟที่หลุมเพื่อทำลายวัสดุขุดเจาะต่าง ๆ ที่อยู่ในหลุม และด้วยหวังว่าจะทำให้ก๊าซถูกเผาไหม้จนหมดได้รวดเร็วขึ้นและมอดดับลงในเวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม กระทั่งปัจจุบัน เปลวไฟในหลุม ก็ยังไม่ทีท่าว่าจะมอดดับลง


พอมายืนใกล้ ๆ แล้วมันทั้งใหญ่และร้อนมาก ๆ ยืนนานไม่ได้

พอพระอาทิตย์ตกแล้ว แถวนั้นจะมืดสนิท เราก็สามารถถ่ายรูปโพสท่าสนุก ๆ กันได้


มันดูน่ากลัวสมชื่อจริง ๆ ว่านี่คือประตูสู่นรก

นอกจากนี้ ห่างออกไปไม่ไกลนัก ยังเป็นที่ตั้งของหลุมน้ำ (Darwaza Water Crater) ซึ่งเป็นหลุมน้ำสีเขียวมรกตที่มีฟองก๊าซใต้ดินพวยพุงขึ้นมาเหนือน้ำตลอดเวลา และหลุมโคลนเดือด (Darwaza Bubbling Mud Crater) โดยหลุมน้ำเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1969


หลุมน้ำ ซึ่งเป็นหลุมแรกที่ได้แวะ

ขณะที่หลุมโคลนเดือด เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1972


หลุมโคลน มีไฟติดเล็กน้อย

ทั้งหลุมน้ำและหลุมโคลนเดือด มีจุดกำเนิดคล้ายกับหลุมก๊าซดาร์วาซา กล่าวคือเกิดจากความพยายามขุดเจาะหาน้ำมันใต้ดินของวิศวกรโซเวียต แต่เกิดการยุบตัวของดินจนทำให้ต้องละทิ้งการดำเนินการขุดเจาะไปในที่สุด


หลุมก๊าซ ถ่ายจากมุมไกล


 

มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ (Turkmenbashi Ruhy)



มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ หรือ มัสยิดคิปยัค (Gypjak Mosque) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านคิปยัค ซึ่งเป็นบ้านเกิด ของนายซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ (Saparmurat Niyazov) ประธานาธิบดีคนแรกของเติร์กเมนิสถาน ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอาชกาบัตออกไปทางทิศตะวันตกราว 7 กิโลเมตร


มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ ซึ่งมีความหมายว่า​ “มัสยิดแห่งจิตวิญญาณ” ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2545 -2547 (ค.ศ. 2002 – 2004) จากความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีนิยาซอฟ โดยบริษัท Bouygues ของฝรั่งเศสเป็นผู้ได้รับสัมปทานก่อสร้างด้วยงบประมาณราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา



มัสยิดเติร์กเมนบาชิ รูฮึ เป็นมัสยิดประจำชาติของเติร์กเมนิสถานและเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 36 เฮคตาร์ (ประมาณ 216 ไร่) ตัวมัสยิดถูกสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวทั้งหมด สามารถรองรับศาสนิกชนได้ราว 10,000 คน มีโดมทอง 1 โดม สูง 55 เมตร และ 4 หอคอย สูง 91 เมตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ แห่งปีที่ประกาศเอกราช (ค.ศ. 1991)


ผนังมัสยิดตกแต่งด้วยเนื้อหาจากคัมภีร์อัลกุรอ่านซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรภาษาเติร์กเมน และเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเกี่ยวกับจิตวิญญาณและศีลธรรม ชื่อรุคฮ์นามา (Rukhnama) ที่เขียนโดยประธานาธิบดีนิยาซอฟ ด้วยเหตุนี้ ทำให้มัสยิดแห่งนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวมุสลิมจำนวนมาก เนื่องจากมองว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะบรรจุถ้อยคำในหนังสือให้เทียบเท่ากับคัมภีร์อัลกุรอาน



 

ปราการพาร์เทียนแห่งเมืองนิสา (Parthian Fortress of Nisa)



เมืองนิสา (Nisa) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรพาร์เทียน (Parthian) ซึ่งมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียกลาง ระหว่าง 247 ปีก่อนคริสตกาล ถึง ค.ศ. 224 นักโบราณคดีเชื่อว่า เมืองนิสา ได้รับการสถาปนาโดยกษัตริย์ Arsaces ที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง 250 - 211 ปีก่อนคริสตกาล) และต่อมา เมืองได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง Mithradatkirt โดยกษัตริย์ Mithridates ที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง 171-138 ปีก่อนคริสตกาล) เมืองนิสา ล่มสลายจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนคริสตกาล


ในอดีต เมืองนิสา ถือเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของอาณาจักรพาร์เทียนและภูมิภาคเอเชียกลาง ที่ตั้งของเมืองอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ป้องกันมิให้อาณาจักรโรมันแผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในเอเชีย เมืองนิสา เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังและอาราม พระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีห้องเก็บไวน์ วัตถุล้ำค่า และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ



จุดเด่นของเมือง Nisa คือ ปราการพาร์เทียนแห่งเมืองนิสา ซึ่งเป็นกำแพงหนาราว 8-9 เมตร ล้อมรอบหอคอยจำนวน 43 แห่ง เป็นวงล้อมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งยังคงปรากฎร่องรอยอยู่ในปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ-ยูเนสโก (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนปราการพาร์เทียนแห่งเมืองนิสา ให้เป็นมรดกโลก หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้การมีอยู่ของเมืองนิสาและอาณาจักรพาร์เทียน คือ แจกันรูปงาช้าง (rythons) ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเติร์กเมนิสถาน


เมืองนิสา ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอาชกาบัตไปทางทิศตะวันตกราว 18 กิโลเมตร


 

📷🚖📷🚘📷🚁📷🚗📷🚐📷🛴📷🚅📷🚢📷🛩️📷🚤📷⛵📷🛥️

ถ้าชอบช่วย Like, Comment และ Share เพื่อกำลังใจทำต่อด้วยครับบบบ ขอบคุณครับบบ


#เที่ยวแปลกใหม่ #ไปเที่ยวกัน #tiewplakmai #เติร์กเมนิสถาน #turkmenistan #ashgabat #doortohell


0 comments

Comments


bottom of page